วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Heater (ฮีตเตอร์)



            เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการเลี้ยงปลาสวยงาม ที่ทำหน้าที่ให้ความร้อนแก่ตู้ปลา เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในตู้ปลาเปลี่ยนแปลง ในรอบวัน  ฮีตเตอร์ มีรูปร่างเป็นแท่งแก้วใสๆ ยาวๆ ภายในมีขดลวด ที่ทำหน้าที่สร้างความร้อนอยู่ ฮีตเตอร์ปัจจุบันส่วนใหญ่ จะเป็นระบบทำงานโดยอัตโนมัติ คือจะเริ่มทำงานเมื่อน้ำในตู้ปลามีอุณหภูมิต่ำกว่าที่เราตั้งเอาไว้ พออุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับที่เราตั้งไว้ เจ้าฮีตเตอร์ก็ตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ ฮีตเตอร์เป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะว่าประโยชน์ของเจ้าฮีตเตอร์มันมีอยู่หลายอย่างครับ เช่น ช่วยรักษาโรคบางชนิดได้ครับ เช่นโรคจุดขาว ฯลฯ หรือจะช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ ในช่วงหน้าหนาวให้ระดับอุณหภูมิของน้ำในตู้ปลา ของท่านไม่ลดต่ำลงจนเกินไป  สำหรับเมืองไทยปกติแล้วอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ฮีตเตอร์จึงไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนัก แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการควบคุมอุณหภูมิอย่างหนึ่ง

            สิ่งหนึ่งที่สำคัญของการใช้ฮีตเตอร์ก็คือต้องวางฮีตเตอร์ในตำแหน่งที่มีกระแสน้ำพัดให้ไหลเวียนทั่วตู้ ตรงนี้สำคัญมาก ห้ามลืมเด็ดขาด ฮีตเตอร์..มีหลายยี่ห้อ หลายราคา ของจีนก็ถูก ของยุโรปก็แพงกว่า(แต่ก็ปลอดภัยกว่า)

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรคจุดขาว

โรคจุดขาว
          เป็นโรคที่เกิดจาก โปรโตซัวกลุ่ม Ciliate protozoan ชื่อว่า Cryptocaryon irritans ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีจุดสีขาวขุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเล็ก ๆ กระจาย อยู่ทั่วลำตัวและครีบ โดยจุดสีขาวเหล่านั้นจะฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นนอกของลำตัว และเหงือก ทำให้ดูคล้ายกับการปะแป้ง ซึ่งสาเหตุของโรคนี้คือโปรโตซัวนั้นจะ กินเซลล์ผิว หนังเป็นอาหาร เมื่อพยาธิโตเต็มที่จะออกจากตัวปลาโดยจมตัวลงสู่บริเวณ ก้นตู้ปลา และ สร้างเกราะหุ้มตัว ต่อจากนั้นจะมีการแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อนจำนวนมาก เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสมเกราะหุ้ม ตัวจะแตกออกและตัวอ่อนของ พยาธิจะว่ายน้ำเข้าเกาะตามผิวหนังของปลาต่อไป พบโรคนี้กับปลาหลายชนิด  ปลาที่เป็นโรคจุดขาวจะมีอาการว่ายทุรนทุราย หายใจถี่ เอาลำตัวถูกับหิน ผู้เลี้ยงไม่ควรนำผ้าเช็ดจุดขาวออก แมว่าจะทำให้จุดขาวบางส่วนหลุดออก แต่ก็จะยิ่งทำให้เกิดบาดแผลลึกบนตัวปลาซึ่งอาจทำให้เกิกการติดเชื้อเป็นอันตรายยิ่งไปกว่าเดิม





การปัองกันและรักษา
          - ฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 1 ชม. สำหรับ ปลาขนาดใหญ่ หรือ 25-50 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชม.

          - มาลาไค้ท์กรีน 1.0-1.25 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้นาน 1/2 บม. สำหรับปลาขนาดใหญ่ หรือ 0.15 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชม. หรือ เมททิลีนบลู 1-2 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ติดต่อกัน 7 วัน

          - Copper sulfate หรือ จุนสี สามารถรักษาการติดเชื้อโรคจุดขาวได้ โดยความเข้มข้นของ copper ion ในน้ำที่สามารถฆ่าเชื้อได้ (therapeutic level) ประมาณ 0.15 – 0.20 ppm เป็นระยะเวลา 28 วัน หากความเข้มข้นต่ำกว่านี้จะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หากความเข้มข้นสูงกว่านี้ อาจส่งผลให้ปลาตายได้

          -  การเพิ่มอุณหภูมิ อยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส จะช่วยให้วงรอบชีวิตเร็วขึ้น กล่าวคือทำให้เชื้อเกิดการแตกออกจากแคปซูลได้เร็วขึ้นและถูกทำลาย หรือการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน วันละ 10% จะช่วยให้จำนวนเชื้อลดลง ในกรณีที่ตู้มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถใส่ยาและเปลี่ยนน้ำเป็นจำนวนมากได้ทุกวัน




การเกิดโรคในปลาทะเล

ปัจจัยในการเกิดโรคในปลาทะเล




               สาเหตุหลัก  ในการเกิดโรคกับปลาทะเลประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยคือ ปลา เชื้อโรค และสิ่งแวดล้อม  โดยหากปัจจัยทั้งสามนี้ประกอบกันอาจเกิดโรคกับปลาที่เราเลี้ยง ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรควบคุมดูแลปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกับปลาทะเล ทั้ง 3 ปัจจัยอย่างใกล้ชิด เช่น เวลาเลือกปลามาเลี้ยงควรเลือกปลาที่แข็งแรงไม่เป็นโรค ไม่มีปลาป่วยหรือปลาตายรวมอยู่ในตู้ของปลาที่เราจะซื้อมาเลี้ยง อุปกรณ์ต่างๆที่เรานำมาใช้ในการเลี้ยงปลาต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีความสะอาด และสุดท้ายเราต้องดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆในการเลี้ยงปลาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เช่น pH, อุณหภูมิ, ความเค็ม, แอมโมเนีย, ไนไตรท์ และ ไนเตรท เป็นต้น


              โรคติดต่อในปลาทะเลที่เกิดขึ้นนั้น หากเราละเลยปล่อยให้ปลาที่เลี้ยงเกิดโรคขึ้นแล้ว การรักษาให้หายหรือทำให้ปลารอดนั้นทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากว่า เชื้อโรคนั้นสามารถแพร่กระจายไปสู่ปลาตัวอื่นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ในการป้องกันโรค ควบคุมปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการทำให้เกิดโรคกับปลา จะเป็นการดีที่สุดในการป้องกันโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้น

            การรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับปลาทะเล คือเราต้องนำปลาที่เกิดโรคออกมาเลี้ยงแยก เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังปลาตัวอื่น ตั้งอุณหภูมิของ Heater ให้คงที่ไว้ที่ 29-30 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งวัน จากนั้นใช้สารเคมีให้ตรงกับโรคที่เกิดขึ้น หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพของน้ำ เช่น น้ำขุ่น มีตะกอนควรทำการเปลี่ยนน้ำทันที และระหว่างการรักษาปลาในตู้พยาบาลนั้นควรมีการถ่ายน้ำอยู่เป็นประจำเพื่อทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำนั้นเจือจางลง 







วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการให้อาหารปลาทะเล

เทคนิคการให้อาหารปลาทะเล 

            อาหาร เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ปลาทะเลเจริญเติบโต มีสีสันสดใส ผู้เลี้ยงปลาทะเลส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกันมากนัก ต่อไปนี้คือเทคนิคในการให้อาหารปลาทะเล ที่จะทำให้ปลาทะเลของคุณแข็งแรง สวยงามและ ปราศจากโรคต่างๆ



จำนวนมื้อของปลาทะเล

           ปลาทะเลควรจะกินอาหารวันละ 1-2 มื้อเท่านั้น ไม่ควรให้มากกว่านี้ เนื่องจากตามธรรมชาติของปลาทะเลนั้นจะหา อาหารเอง บางครั้งถึงหาไม่ได้ ก็ไม่ได้กินอะไรยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้


ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ

           ปริมาณอาหารนั้นควรให้ในปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอกับขนาดตัวและชนิดของปลาทะเลนั้นๆ ไม่ควรให้เยอะหรือบ่อยจนเกินไป เพราะอาหารที่เหลือ อาจทำให้น้ำเน่าได้ ซึ่งทำให้น้ำสกปรกและเกิดโรคกับปลาได้ 

การควบคุมเวลาในการให้อาหาร

            การให้อาหารปลาทะเล ควรหัดให้กินอาหารเป็นเวลา ไม่ใช่ให้กินพร่ำเพรื่อตลอดเวลา ควรมีเวลาที่แน่นอนในการให้อาหาร จะได้สะดวกกับคนเลี้ยง

ควรให้ปลาทะเลออกกำลังกายบ้าง

            การให้อาหารสดแก่ปลาทะเล เช่น ไรทำเล หนอนแดงสด บ้างซึ่งจะทำให้ปลาทะเลว่ายไล่กินอาหารเป็นการออกกำลังแต่ปลาทะเลอีกทั้งคนเลี้ยงยังได้นั่งดูปลาทะเลแหวกว่ายไปในตู้ ซึ่งทำให้เห็นความสวยงามของปลา แต่การให้อาหารสดนั้น ควรเลือกอาหารที่มีความสะอาดด้วย





วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เตรียมตัวก่อนเลี้ยง


การเตรียมตัวก่อนเลี้ยงปลาทะเล


      

ขั้นที่ 1 การเตรียมและตรวจสอบอุปกรณ์

            ตู้ปลาสำหรับการเลี้ยงปลาทะเลนั้นควรมีความหนาพอสมควรเนื่องจากน้ำทะเลจะมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ สำหรับการทำความสะอาดตู้ควรต้องทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและฟองน้ำหรือผ้าเท่านั้น ห้ามใช้สารเคมี ทดสอบตู้โดยการเปิดอุปกรณ์ทั้งหมด เป็นโดยรันระบบไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง เช็ครอยรั่วซึม และอุปกรณ์ทั้งหมดว่าทำงานเป็นปกติดีหรือไม่

ขั้นที่ 2 การเตรียมน้ำทะเล

          - ใช้น้ำทะเล โดยสามารถซื้อได้จากร้านปลาทะเลทั่วไป
          - ใช้น้ำเกลือผสม ผสมตามอัตราส่วนที่ข้างถุง แล้วใช้หัวทรายเป่าทิ้งไว้ 1 คืน



ขั้นที่ 3 การเตรียมระบบ

            เติมน้ำที่เตรียมไว้ลงในตู้ และเปิดระบบอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้ระบบเซ็ตเข้าที่

ขั้นที่ 4 การเตรียมหินเป็น
            ควรเลือกใช้หินเป็นที่บำบัดมาแล้ว และเป็นหินเป็นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเลือกลักษณะตามที่ตนเองออกแบบ

        
ขั้นที่ 5 การรอระบบเซทตัว

            ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก โดนขั้นตอนนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 3 -8 อาทิตย์ ขึ้นกับสภาพของหินเป็น เริ่มต้นโดยการเติมแบคทีเรีย เศษอาหาร หรือกุ้งตายลงไปในตู้ จากนั้นเช็คค่าน้ำทุกอาทิตย์ โดยเฉพาะ ammonia, nitrite และ nitrate รอจนกระทั่งระบบเซทตัวเองให้สมบูรณ์ โดยค่า ammonia, nitrite และ nitrate ต้องมีค่าเป็น 0 จึงสามารถลงปลาได้

      


ขั้นที่ 6 ศึกษาและวางแผนการเลือกสิ่งมีชีวิต

            การเลือกชนิดของปลาควรขึ้นกับความพร้อมของผู้เลี้ยง เวลาในการดูแล และความพร้อมของตู้ เพราปลาแต่ละชนิดมีความต้องการที่ต่างกัน บางชนิดเลี้ยงง่าย บางชนิดเลี้ยงและดูแลยากตู้อาจต้องมีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
ขั้นที่ 7 การลงทรายเป็นและเศษปะการัง

            ปิดระบบและอุปกรณ์ ทุกอย่าง ตักน้ำในตู้ออก จากนั้นลงทรายเป็นและเศษปะการัง เช็คค่าน้ำต่างๆ ให้ เป็นปกติ



ขั้นที่ 8 การลงปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

            เช็คระบบทุกอย่างให้เรียบร้อย และค่าน้ำรวมไปถึงอุณภูมิ ความเค็ม ฯลฯ เริ่มต้นควรเลือกปลาที่ดูแลง่าย เพื่อเช็คระบบในตู้ และให้แน่ใจว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถอยู่ได้ จึงสามารถลงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นต่อไป

ขั้นที่ 9 การดูแลและรักษาสิ่งมีชีวิตในตู้

            หมั่นดูแล เอาใจใส่ และสังเกตุสิ่งมีชีวิตต่างๆในตู้ว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ เช็คค่าน้ำ และบำรุงรักษาเครื่องมืออยู่เสมอ และดูแลเอาใจใส่เพื่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Protein Skimmer (โปรตีนสกิมเมอร์)


Protein Skimmer (โปรตีนสกิมเมอร์)

          สำหรับ วงการคนเลี้ยงปลาทะเลคงไม่มีใครไม่รู้จักกับอุปกรณ์ตัวนี้ ซึ่งก็คือ Protein Skimmer (โปรตีนสกิมเมอร์) ซึ่งทำหน้าที่ในการกำจัดสารอินทรีย์ที่อยู่ในตู้ปลาโดยกระบวนการทางกายภาพ ก่อนที่จะสารอินทรีย์และโปรตีนจะสลายตัวไปเป็น สารประกอบจำพวกไนโตรเจน ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในตู้ปลา


วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปลาสินสมุทรจิ๋ว Pygmy angel fish

          ปลาสินสมุทรจิ๋ว เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่มีสีสันสวยงามและเป็นที่นิยมอย่างมาก ในการนำมาเลี้ยงในตู้ปลาทะเล ปลาสินสมุทรจิ๋วมักถูกเรียกในหมู่นักเลี้ยงปลาทะเลว่า ปลาหมอ เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 4 นิ้ว ปลาสินสมุทรจิ๋วนั้นเป็นปลาที่มีอุปนิสัยที่ไม่ดุร้ายทำให้ สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆได้เป็นอย่างดี แต่อาจมีความก้าวร้าวบ้างกับปลาชนิดเดียวกัน พฤติกรรมของปลาชนิดนี้ก็คือ มักชอบใช้ปากตอดก้อนหินตลอดเวลา ดังนั้นในการเลี้ยงปลาสินสมุทรจิ๋วนั้น ภายในตู้ปลาควรจะมีหินเป็นในตู้พอสมควร ปลาสินสมุทรจิ๋วนั้นมีด้วยกันหลายชนิด เช่น หมอม่วง หมอครีม หมอสนิม หมอดำ เป็นต้น


วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปลาสินสมุทร Angel fish

     ปลาแองเจิล หรือที่คนไทยมักเรียกติดปากว่าปลาสินสมุทร ซึ่งปลาชนิดนี้จัดเป็นปลาที่มีความสวยงามมาก จัดได้ว่าเป็นราชาแห่งท้องทะเลก็ว่าได้ ซึ่งสร้างความสวยงามเป็นอย่างยิ่งให้กับท้องทะเล ปลาสินสมุทรนั้นจัดเป็นปลาทะเลที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมีลวดลาย มีสีสันที่สวยงาม และมีท่าทางในการว่ายน้ำที่สง่างาม จึงทำให้เป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยงปลาทะเล โดยปลาสินสมุทรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงลวดลายได้จากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่งได้ คือเมื่อตอนยังมีอายุน้อยลวดลายก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่เมื่อปลาสินสมุทรโตขึ้นจนก็จะมีลวดลายเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ปลาในกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ทั้งแนวปะการังน้ำตื้นและน้ำลึก โดยจะอาศัยกินสิ่งมีชีวิตตามแนวปะการังเป็นอาหาร เช่น ฟองน้ำ ปลาดาว เป็นต้น 


ปลาสลิดหิน Damsel fish



     ปลาสลิดหิน เป็นปลาทะเลที่มีขนาดเล็กโดยมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร ซึ่งลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือเป็นปลาที่สีสันที่สวยงาม โดยปลาสลิดหินถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาการ์ตูน เป็นปลาที่ร่าเริง สามารถว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว มีความต้องการอาณาเขตเป็นของตัวเอง มีอุปนิสัยก้าวร้าว แม้ว่าจะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันก็ตาม




ปลาการ์ตูน Anemone fish

          ปลาการ์ตูน เป็นปลาที่มีสีสันสดใส ว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา พบโดยทั่วไปตามแนวปะการังบริเวณแถวเส้นศูนย์สูตร โดยทั่วไปแล้วปลาการ์ตูนจะมีขนาดอยู่ประมาณ 3 นิ้ว โดยปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้หากมีการจับคู่กันแล้ว ตามธรรมชาตินั้น ปลาการ์ตูน จะอยู่กันเป็นครอบครัว และกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ปลาการ์ตูนนั้นป็นปลาที่ไม่ดุร้าย แต่มักก้าวร้าวกับปลาชนิดเดียวกัน จึงไม่ควรเลี้ยงปลาการ์ตูนรวมกันเป็นฝูง อยู่ในตู้ขนาดเล็ก เพราะอาจเกิดการแย่งอาณาเขตกัน ซึ่งอาจทำให้กัดกันจนถึงตายได้ ในปัจจุบันปลาการ์ตูนนั้นสามารถเพาะพันธุ์ได้แล้ว เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย โดยในธรรมชาตินั้นปลาการ์ตูนมักจะอาศัยอยู่ตามแนวพันธุ์ไม้ทะเล เพื่อป้องกันอันตรายจากปลาขนาดใหญ่ 

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

อ่านก่อนเริ่มเลี้ยง

     
        การเลี้ยงปลาทะเล ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่นักเลี้ยงปลา เนื่องจากว่าปลาทะเลจะมีสีสันสดใสและลวดลายที่สวยงาม โดยความนิยมในการเลี้ยงปลาทะเลนั้นมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงปลาทะเลนั้นมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น และมีราคาถูกลง ซึ่งทำให้การเลี้ยงปลาทะเลนั้นมีความสะดวกสบายมากว่าสมัยก่อนเป็นอย่างมาก

        ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงปลาทะเลนั้นยังไม่มีความรู้พื้นฐานสำหรับเลี้ยงปลาทะเล ยังไม่ทราบถึงความต้องการและรายละเอียดทางด้านชีววิทยาของปลาทะเลชนิดนั้นๆ ดังนั้นก่อนที่ผู้ที่คิดจะเลี้ยงปลาทะเลนั้นควรจะศึกษาหาความรู้ทั่วไปที่ต้องใช้ในการเลี้ยงปลาทะเล เช่น ต้องเลี้ยงในตู้ขนาดเท่าไร มีความดุร้ายสามารถเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นได้หรือไม่ กินอาหารอะไร เพื่อป้องกัน ไม่ให้ปลาที่นำมาเลี้ยงนั้นตายไปในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งส่งผลให้ ต้องมีการจับปลาทะเลในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในอนาคตก็เป็นได้ ดังนั้นหากผู้อ่านมีความเข้าใจพื้นฐานของปลาทะเลเป็นอย่างดีแล้วนั้น การเลี้ยงปลาทะเลก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More